ข่าวประชาสัมพันธ์

ยุทธศาสตร์ชาติ ทำไปเพื่ออะไร?

“ยุทธศาสตร์ชาติ” ทำไปเพื่ออะไร?

สร้าง 20 ปี พาชาติให้ก้าวหน้ากับแผนพัฒนาประเทศ “ยุทธศาสตร์ชาติไทย”

ถึงเวลาที่คนไทยทั้งชาติต้องร่วมผลักดันประเทศไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยการสร้างศักยภาพในด้านต่าง ๆ ไปพร้อมกัน เริ่มต้นอย่างแรก ด้วยการทำความเข้าใจกับ “ยุทธศาสตร์ชาติไทย” แบบง่าย ๆ เพื่อกำหนดหน้าที่และทิศทางในการมีส่วนร่วมเพื่อให้ประเทศชาติ “ดี” กว่าเดิม เห็นผลพร้อมกันภายใน 20 ปีนับจากนี้

เหมาะกับใคร

คนไทยทุกคน

ใจความสำคัญ

  • “ยุทธศาสตร์ชาติ” คือ กรอบการพัฒนาระยะยาว เพื่อให้ประเทศบรรลุวิสัยทัศน์ที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้
  • ในขณะนี้ ประเทศไทยได้เริ่มมีการร่างกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ครอบคลุมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560-2579
  • วิสัยทัศน์ของยุทธศาสตร์ชาติไทย คือการนำประเทศไปสู่ความ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” และเป็นประเทศที่พัฒนา ด้วยการนำหลักตามปรัชญาแนวคิด “เศรษฐกิจพอเพียง” 
  • หลักในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติประกอบไปด้วย หลักวิชาการและความเป็นสากล ศึกษาประสบการณ์ของต่างประเทศ และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

    ทำความเข้าใจกับคำว่า “ยุทธศาสตร์ชาติ”
    ยุทธศาสตร์ชาติ คือ กรอบการพัฒนาระยะยาว เพื่อให้ประเทศสามารถบรรลุวิสัยทัศน์ที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้ โดยเป็นเป้าหมายที่ทางภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชนร่วมมือกันกำหนดขึ้น เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศ นำมาซึ่งความอยู่ดี มีสุขของประชาชนไทยทุกคน โดยเหตุผลที่ประเทศไทยต้องมียุทธศาสตร์ชาติ ก็เพื่อให้การพัฒนาประเทศนั้นเป็นไปอย่างต่อเนื่องตามกรอบที่วางไว้อย่างมั่นคงและยั่งยืน แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารของประเทศก็ตาม ซึ่งจะเห็นได้จากในหลายประเทศที่ได้มีการใช้แผนยุทธศาสตร์ชาติและประสบผลสำเร็จ เพราะมีความก้าวหน้าในด้านต่าง ๆ อย่างเห็นได้ชัดเจน อาทิ ไต้หวัน มาเลเซีย บรูไนและเวียดนาม

    ในขณะนี้แผนพัฒนาประเทศ “ยุทธศาสตร์ชาติ” ไทยได้เริ่มมีการร่างกรอบยุทธศาสตร์ชาติเป็นเวลา 20 ปี ครอบคลุมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560-2579  ซึ่งหลายภาคส่วนอาจเป็นกังวลและเกรงว่า เมื่อยุทธศาสตร์ที่ร่างขึ้นมีผลระยะยาวถึง 20 ปีนั้น อาจทำให้กรอบการพัฒนาที่ตั้งไว้มีความล้าสมัย ไม่ทันการเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ ด้าน แต่ความจริงแล้ว แผนยุทธศาสตร์ชาติที่กำหนดไว้ สามารถมีการทบทวนและปรับปรุงให้เหมาะสมกับยุคสมัยสถานการณ์ ปัจจัยและสภาวะแวดล้อมประเทศและโลก โดยให้มีการพิจารณาปรับปรุงแผนได้ในทุก 5 ปี

    “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ยึดมั่น 3 คำตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

    ยุทธศาสตร์ชาติสร้างขึ้นเพื่อการขับเคลื่อนการพัฒนาและรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์และความก้าวหน้าของประเทศเพื่อให้บรรลุ วิสัยทัศน์ การนำประเทศไปสู่ความ “มั่งคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”  และเป็นประเทศที่พัฒนาด้วยการนำหลักตามปรัชญาแนวคิด “เศรษฐกิจพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อเป็นแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชน ไปจนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง

    มั่นคง

    หมายถึง การมีความมั่นคงปลอดภัยจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอกประเทศในทุกระดับตั้งแต่ปัจเจกบุคคลไปจนถึงระดับสังคม รวมไปถึงความมั่งคงในมิติต่าง ๆ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและการเมือง

    มั่งคั่ง

    หมายถึง ประเทศไทยจะต้องมีการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องเพื่อยกระดับให้เป็นกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง ลดความเหลื่อมล้ำเพื่อให้ประชาชนได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาอย่างเท่าเทียมกัน นอกจากนี้ เศรษฐกิจของประเทศจะต้องมีความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้นทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ สร้างฐานเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต

    ยั่งยืน

    หมายถึงแผนพัฒนาตามกรอบที่วางไว้จะต้องสร้างความเจริญทั้งรายได้ และคุณภาพชีวิตของประชาชนให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะต้องไม่ใช้ทรัพยากรที่เกินพอดี การผลิตและการบริโภคจะต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อให้สอดคล้องกับกฎระเบียบของประชาคมโลก มุ่งประโยชน์ส่วนรวมเพื่อความยั่งยืน ที่สำคัญคือประชาชนทุกภาคส่วนจะต้องยึดถือและปฏิบัติตามปรัชญาของ เศรษฐกิจพอเพียง เพื่อความสุขที่ยั่งยืน

     

    หลักการจัดทำ “ยุทธศาสตร์ชาติ”

    หลักในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ประกอบด้วย  3 ข้อหลักที่สำคัญคือ

    หลักวิชาการและความเป็นสากล

    ต้องมีความรู้เชิงวิชาการในระดับประเทศและระดับสากลนำมาใช้ในการประกอบการจัดทำแผนพัฒนาประเทศให้มีประสิทธิภาพ

    การศึกษาประสบการณ์ของต่างประเทศ

    ศึกษาการพัฒนาและความสำเร็จในด้านต่าง ๆ จากประเทศที่พัฒนาแล้วเพื่อนำมาเป็นแบบอย่างในการจัดทำแผนพัฒนาประเทศอย่างเหมาะสม

    การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

    การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติจะต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาชนเพื่อให้แผนพัฒนาประเทศเป็นไปอย่างเหมาะสมและสอดคล้องต่อความต้องการของสังคมส่วนรวม โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของประชาชนนั้นถือเป็นส่วนที่สำคัญที่จะทำให้รู้ว่าประชาชนไทยอยากเห็น “ประเทศไทย” เป็นอย่างไรในอนาคต

    อนาคตไทยใน 20 ปีนับจากนี้

    อนาคตของประเทศไทยใน 20 ปีนับจากนี้จะเป็นอย่างไร? หากเราร่วมมือกันขับเคลื่อนประเทศตามแผน “ยุทธศาสตร์ชาติ” ไปพร้อม ๆ กันด้วยวิสัยทัศน์ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และเป็นประเทศพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”  คำตอบอยู่ที่คุณ “คนไทย” ทั้งประเทศที่ต้องร่วมมือกัน


    ที่มา : https://pmdu.soc.go.th

แชร์ข่าวนี้